วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

บุรีรัมย์จัดยิ่งใหญ่ ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ แสงตะวันส่องทะลุ 15 ช่องประตูปราสาท

วันอังคารที่ 27 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.
เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม คำขวัญของจังหวัดบุรีรัมย์ มีประวัติอันยาวนานและเป็นความภูมิใจของประชาชนในจังหวัดที่มีปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินทรายที่มีการวางผังอย่างมีระเบียบ โดยสร้างเทวาลัยบนเนินเขา ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป็ก ต.ตาเป็ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่มีอายุนับพันปี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 1,320 ฟุต จากระดับน้ำทะเล กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้ว นักโบราณคดีเชื่อว่า “มหาเทวาลัยพนมรุ้ง” สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยมหาฤาษีนเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งขอม ต่อมาเกิดการแก่งแย่งเพื่อสืบราชสันตติวงศ์ นเรนทราทิตย์ได้เสด็จหนีออกไปบำเพ็ญพรตภาวนา เพราะเบื่อการแย่งชิงอำนาจ ซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งในศาสนาฮินดู และจากการเสด็จออกไปบำเพ็ญพรตภาวนาในป่า จึงมาพบภูเขาพนมรุ้ง และได้เลือกเป็นที่บำเพ็ญบุญในถ้ำเงียบสงบ ทั้งได้สร้างปราสาทหินทรายถวายแด่พระอิศวร ตามตำนานเล่าว่า หลังจากนเรนทราทิตย์บวชเป็นฤาษีเข้าไปบำเพ็ญภาวนาโดยปิดปากถ้ำไว้ ด้วยความเพียรจึงได้ตบะญาณทำลายปากถ้ำออกมาพบกับแสงสว่างภายนอก เป็นมหาฤาษี ณ ปราสาทพนมรุ้ง แห่งนี้
นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า “ประเพณีการเดินขึ้นเขาพนมรุ้ง เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2481 โดยท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางไปวิปัสสนากรรมฐานบนเขาพนมรุ้ง ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 5 ชาวบ้านจึงจัดให้มีกิจกรรมสำคัญ การทำบุญปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และถือเอาวันนั้นเป็นวันฉลองประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นครั้งแรกที่จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง และมีขบวนเสด็จของกษัตริย์ในอดีต ซึ่งจะมีขบวนเทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ ประกอบด้วย หงส์ สัตว์พาหนะของพระพรหม ทางทิศเบื้องบน ช้าง สัตว์พาหนะของพระอินทร์ ทางทิศตะวันออก วัว สัตว์พาหนะของพระอิศวร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แรด สัตว์พาหนะของพระอัคนี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คชสีห์ สัตว์พาหนะของพระกุเวร ทางทิศเหนือ นกยูง สัตว์พาหนะของพระขันธกุมาร ทางทิศใต้ นาค สัตว์พาหนะของพระวิรุณ ทางทิศตะวันตก ม้า สัตว์พาหนะของพระพาย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รากษส สัตว์พาหนะของพระนิรฤติ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และกระบือ สัตว์พาหนะของพระยาเทพพิทักษ์ ทางทิศเบื้องล่าง โดยตลอดเส้นทางจะมีหญิงสาวยืนโปรยปรายดอกไม้ เพื่อต้อนรับขบวนเสด็จทั้งสองข้างทางด้วย และเพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทางจังหวัดได้กำหนดการจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งในปี 2555 นี้ ให้มีความยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมศิลปากร จัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 2-7 เม.ย.2555 โดยใช้ชื่องานว่า “มหัศจรรย์พนมรุ้ง (Miracle Phnom Rung) สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์แห่งวนัมรุง” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะปราสาทหินพนมรุ้งให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามด้วย
ในตอนกลางวันชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทร นำเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เทพพาหนะทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยโคมไฟและธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเนอร์ และกลางคืน จะมีการแสดง แสง สี เสียง ชุด “มหัศจรรย์พนมรุ้ง” อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา จะเป็นการแสดงที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวที่จารึกไว้ในศิลาจารึก ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีผู้แสดงนับร้อยชีวิต เครื่องแต่งกายอันวิจิตรบรรจง แสง สี เสียงงดงามอลังการ
ส่วนการชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้งปีนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของปี นักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่เฝ้ารอชมพระอาทิตย์ตก จนเมื่อเวลา 18.10 น. ท้องฟ้าเปิดดวงอาทิตย์ได้ตกตรง 15 ช่องประตู ทำให้สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ส่องทะลุช่องประตูปราสาทพนมรุ้งทั้ง 15 ช่องประตูได้อย่างชัดเจนนานกว่า 5 นาที ท่ามกลางความประทับใจของผู้เฝ้ารอชม ที่มีความเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ศักดิ์สิทธิ์การรับแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่กลางปราสาทพนมรุ้งเป็นการเสริมพลังชีวิตและความสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวของผู้พบเห็น โดยปรากฏ
การณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ส่องทะลุผ่าน 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง เป็นปรากฏการณ์ที่มีให้ชมได้ที่ปราสาทพนมรุ้งเพียงแห่งเดียว และมีให้ชมเพียงปีละ 4 ครั้ง โดยปีนี้ดวงอาทิตย์จะตกตรง 15 ช่องประตูปราสาท 2 ครั้ง ในวันที่ 5–7 มีนาคม และ 5–7 ตุลาคม และดวงอาทิตย์จะขึ้นตรง 15 ช่องประตูอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 2–4 เมษายน และวันที่ 8–10 กันยายน
โดยนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้าร่วมงานดังกล่าว สามารถติดต่อจองบัตรได้ ที่ทำการปกครองจังหวัด โทร. 0-4461-8654 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์การจัดงานฯ โทร.0-4462-1341.
เฉลิมศรี บรรณทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น