วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปวดท้องเรื้อรัง (บทความน่าสนใจ)


เมื่อพูดถึงอาการปวดไม่ว่าจะปวดที่อวัยวะใด ก็ไม่มีใครอยากประสบพบเจอแน่นอน “อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง” ยิ่งเป็นปัญหาที่หลายคนไม่อยากพบเจอเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทนทุกข์ทรมานมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังเป็นโรคที่รักษายาก

อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงสร้างทางร่างกายที่เอื้อต่อการเกิดความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวด อีกทั้งยังมีอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายที่เอื้อต่อการเกิดการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้อีกด้วย โดยทั่วไปการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เป็นอาการปวดบริเวณเชิงกราน ท้องน้อย หรือบริเวณใกล้เคียงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถประกอบภารกิจได้ตามปกติจากอาการปวด หลายคนต้องลาออกจากงาน เพราะเมื่อมีอาการปวดไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดตามปกติทั่วไป อีกทั้งยังมีความผิดปกติทางด้านจิตใจติดตามมา เช่น มีอาการซึมเศร้า หรืออารมณ์แปรปรวน

อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง มีลักษณะที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น พยาธิสภาพของอวัยวะที่ทำให้เกิดอาการปวด หากเป็นอวัยวะด้านระบบสืบพันธุ์สตรี อย่างเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ก็จะมีอาการปวด เหมือนการปวดประจำเดือน แต่อาการปวดจะรุนแรงกว่า หากอาการปวดเกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะก็จะเกี่ยวข้องกับการถ่าย-การอั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะบ่อยมากและปวดมาก บางรายถ่ายปัสสาวะวันละ 40-50 ครั้ง หากอาการปวดมาจากลำไส้ ก็อาจจะมีอาการความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระด้วย หรือหากปวดจากกล้ามเนื้อก็อาจจะปวดไปตามแนวกล้ามเนื้อนั้นและมักจะรู้สึกได้ว่าปวดตรงจุดไหน

จะเห็นได้ว่าอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เป็นกลุ่มอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการที่พบบ่อย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบรุนแรง ซึ่งการอักเสบนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเหมือนการอักเสบโดยทั่วไป แต่เกิดจากน้ำปัสสาวะซึมผ่านเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทั้งนี้ กระเพาะปัสสาวะตามปกติจะมีเยื่อเมือกบาง ๆ คลุมอยู่ มีส่วนในการป้องกันไม่ให้ปัสสาวะซึมเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะ เพราะเกลือแร่ต่าง ๆ ในปัสสาวะจะส่งผลให้มีปฏิกิริยารุนแรงมาก ทำให้เกิดการปวด อาการปวดจากสาเหตุนี้มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย และปวดมากเมื่ออั้นปัสสาวะ จะทุเลาลงบ้างเมื่อถ่ายปัสสาวะเสร็จ

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกมาเกาะอยู่นอกมดลูกในบริเวณเชิงกราน เช่น ผนังด้านนอกกระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ ก็ทำให้มีอาการปวด เมื่อมีการคั่งของเยื่อบุ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวงรอบของฮอร์โมน สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การอักเสบของลำไส้ใหญ่ กล้ามเนื้อเชิงกรานอักเสบ ข้อต่อต่าง ๆ บริเวณเชิงกรานอักเสบ หรือแม้แต่ก้อนนิ่วบริเวณท่อไตส่วนล่าง ก็ทำให้มีอาการปวดร้าวลงมาที่เชิงกรานและท้องน้อยได้

วิธีการวินิจฉัย ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง ส่วนมากผู้ป่วยจะได้รับการพบแพทย์มาก่อน ซึ่งแพทย์จะทบทวนการตรวจวินิจฉัย ผลตรวจต่าง ๆ ผลเอกซเรย์ ยาที่ได้รับในอดีตว่ามีอะไรบ้าง การผ่าตัดบริเวณหลัง ท้องน้อย เชิงกรานต่าง ๆ เพราะอาจจะเกี่ยวข้องด้วยโรคนั้นเอง หรืออาจจะเป็นอาการข้างเคียง เช่นเกิดเนื้อเยื่อพังผืด คำถามต่าง ๆ ที่แพทย์จะถามซึ่งผู้ป่วยควรจะทบทวนและลำดับเหตุการณ์ให้ดีก่อน เพราะจะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก เวลาที่มีอาการปวด อาการปวดเริ่มบริเวณใด ร้าวไปบริเวณใด มีกิจกรรมหรือเหตุการณ์อะไรทำให้ปวดมาก เช่น กลั้นปัสสาวะ มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น อาการปวดเกี่ยวข้องกับรอบเดือนหรือไม่ การเดิน การก้าวขา ทำให้ปวดมากขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมามีอะไรช่วยบรรเทาปวดบ้างหรือไม่ รับประทานอาหารอะไรแล้วทำให้ปวดมากขึ้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยละเอียดตรวจภายใน ตรวจทางทวารหนัก สำรวจหาจุดปวด ตรวจเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ ตรวจปัสสาวะ ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ

หลังจากได้รวบรวมผลต่าง ๆ แล้ว หากได้การวินิจฉัยก็จะให้การรักษาไปตามจุด เช่น หากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็จะให้การรักษาทางฮอร์โมน หากพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบรุนแรงดังกล่าว ก็จะให้ยาระงับอาการปวดร่วมกับการใช้ยาใส่ในกระเพาะปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยส่วนมากจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยทันที ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่แพทย์จะต้องระงับปวดก่อน บางครั้งต้องให้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงร่วมกับยากล่อมประสาท เพราะหลายครั้งที่อาการปวดจะถูกประทับในสมอง ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นมาเองได้ สิ่งที่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยแพทย์ได้ คือจะต้องสังเกตว่ามีเหตุใดที่กระตุ้นให้มีอาการปวดรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ปวดจากเหตุของกระเพาะปัสสาวะที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารหลายชนิด ที่ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดมาก จำพวกเนย สารปรุงรส อาหารรสจัด และประการสำคัญ อย่าเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาเร็วเกินไป เพราะหลายโรคไม่สามารถรักษาหายภายในเร็ววันได้ โรคบางชนิดอาจจะไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถแก้ปัญหาจนอาการปวดลุล่วงได้ และหลายรายอาจจะต้องใช้การผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่ยังไม่ได้พบแพทย์เฉพาะด้าน หรืออาจจะหมดหวังกับการรักษา ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป.

ศ.พน.วชิร คชการ
ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
* ประชาสัมพันธ์ข่าว * ศูนย์บริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดโครงการสร้างห้องปฐมพยาบาลให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้โรงเรียนมีห้องปฐมพยาบาลสำหรับการปฐมพยาบาลระดับเบื้องต้น โรงเรียนใดมีความประสงค์ต้องการห้องปฐมพยาบาลในโรงเรียนแจ้งความจำนงได้ที่ 0-2201-1542 ต่อ 119 หรือ e-mail pom_pom2012@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น