วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำเนียบรัฐบาล (เดลินิวส์)


ทำเนียบรัฐบาลถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีประวัติศาสตร์และเป็นมรดกของชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่  27 ไร่ 3 งาน 44 ตาราวางของถนนพิษณุโลก ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่  6   โดยได้รับการออกแบบจากช่างชาวอิตาเลียน และมีการนำศิลปะแบบเวนีเชี่ยนโกธิค (Venetian Gothic)  มาเป็นต้นแบบ ผสมผสานกับงานเขียนและงานปั้นทำให้สง่างามตลอดมา    ทั้งนี้รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานแก่ พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ   หรือหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ  ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ  และตั้งชื่อว่า   “บ้านนรสิงห์“    ต่อมาในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อ “บ้านนรสิงห์” ไว้เพื่อใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลและสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง   ในราคา  1,000,000  บาท ซึ่งหลังจากนั้นได้ชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และทำเนียบรัฐบาล ตามลำดับ  โดยมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล

สำหรับพื้นที่โดยรอบขอทำเนียบรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่ 4 สี่เหลี่ยมที่ด้านหน้าและด้านซ้ายถูกขนานด้วยคลองผดุงกรุงเกษมและคลองเปรมประชากร  ส่วนด้านหลังและด้านขวาเป็นถนนนราชดำเนินและถ.พิษณุโลก   ขณะที่รั้วกั้นอาณาเขตในอดีตนั้นเป็นรั้วคอนกรีตทึบรอบด้านแต่ปัจจุบันด้านหน้าและด้านข้างฝั่งถนนพิษณุโลกได้ปรับเปลี่ยนเป็นรั้วเหล็กดัดลวดลาย โปร่งตามากขึ้นเพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ชื่นชมความสง่างามของทำเนียบรัฐบาล  ส่วนพื้นที่ด้านในนั้นได้มีการจัดสนามหญ้าเขียวขจีและตกแต่งปีนใหญ่จำนวน 9 กระบอก

ในปัจจุบันนี้ทำเนียบรัฐบาลกกลายเป็นสถานที่ราชการที่ใช้เป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน   รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดรัฐพิธี  เช่น งานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ  จัดการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อชี้แจงนโยบายรัฐบาล  รวมทั้งเป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องทุกข์และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

นอกจากทำเนียบรัฐบาลจะมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว  ยังมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกด้วย   เนื่องจากทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์กลางการอำนาจในการบริหารประเทศ   เมื่อเป็นอย่างนี้เหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลแห่งนี้  และเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งหนึ่งที่คอการเมืองในบ้านเราแทบทุกคนจะต้องจดจำได้อย่างดีคือ ในช่วงเดือนปลายสิงหาคม พ.ศ.2551 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) เข้าล้อมและบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่นในการชุมนุมทางการเมืองกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ซึ่งในที่สุดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นจริง โดยที่นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์  ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร  สุนทรเวช  แต่นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์  นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทยนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้ทำงานภายในทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น