วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผามออีแดง


สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชายแดนไทยกับกัมพูชาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้คนไทยรู้จักชื่อของ ผามออีแดง มากขึ้น เพราะเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงในการปะทะกันครั้งนั้น แต่หลังจากสถานการณ์สงบลงอย่างในปัจจุบัน จุดชมวิวมุมสูงแห่งนี้ ได้เปิดบริการให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสอีกครั้ง โดยความงดงามของทิวทัศน์ก็ไม่ได้จางหายไปตามควันไฟจากความขัดแย้ง

"ผามออีแดง" เป็นลานหินธรรมชาติ  มีหน้าผาสูง 500 เมตร ติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชา  โดยมีผืนป่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา อีกทั้งยังเป็นประตูสู่ปราสาทพระวิหาร มองลงไปจากริมหน้าผาสูงจะเห็นพื้นที่ประเทศกัมพูชาอยู่เบื้องล่าง และมองเห็นทัศนียภาพเขาพระวิหารที่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร รวมถึงทิวเขาพนมดงรักและแผ่นดินเขมรต่ำ นับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามไม่เป็นสองรองใคร

ผมมีโอกาสได้ไปเยือน ผามออีแดง ในช่วงฤดูฝนถึงจะเสียดายที่ไม่สามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า แต่ภาพม่านหมอกขาวที่ค่อยๆลอยละล่องปกคลุมทิวเขาด้านหน้า เป็นความงามที่ทำให้ใจหลุดลอยไปโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะเป็นฤดูฝนแต่ความงามของทิวทัศน์และลมหนาวยามเช้าที่พัดมาเป็นระยะ ทำให้ทุกคนที่มีโอกาสมาเยือนติดใจจนอยากแวะเวียนมาอีกครั้ง

นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามแล้วศิลปกรรมโบราณอายุนับพันปี ณ ผาหินทรายมออีแดง ภาพสลักนูนต่ำและภาพลงเส้น หรือสลักแบบสกัด จากลักษณะศิลปกรรมวิเคราะห์ตามประติมาวิทยาว่าเป็นศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีการระบุว่า ค้นพบโดยทหารพรานชุดคุ้มครองชายแดนเมื่อปี พ.ศ. 2537 ถือเป็นไฮไลท์สำคัญที่นักท่องเที่ยวที่ชอบศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์เดินทางมาชามกันมากมาย

โดยมี ภาพสลักรูปบุคคลในท่านั่ง 3 คน สันนิษฐานว่า รูปบุรุษเป็นรูปท้าวกุเวร  หนึ่งในจตุมหาราชซึ่งประจำทิศเหนือ  เนื่องจากมีดอกไม้ทัดสองข้างหูตามแบบยักษ์ เนื่องจากท้าวกุเวรเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นรูปบุคคลสูงศักดิ์มากกว่าเป็นรูปเทพเจ้าใดๆ และยังมีคนสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปสลักของพระศิวะที่มีพระอุมาและแม่คงคานั่งขนาบข้างซ้ายและขวาของภาพ

ส่วนภาพกลุ่มที่ 2
เป็นรูปบุคคลประทับบนนาค สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเทพวรุณทรงนาค  เทพวรุณเป็นเทพแห่งฝน และรักษาทิศตะวันตก แต่บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นภาพนารายณ์ทรงนาค  ส่วนภาพสัตว์อีกสองตัวอาจจะเป็นพาหนะของเทพ  ที่ยังสลักไม่เสร็จ แต่ไม่ว่าภาพสลักเหล่านี้จะเป็นของบุคคลใด ศิลปกรรมโบราณนี้ก็บ่งบอกได้ถึงวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่คนรุ่นก่อนพยายามส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง เราทุกคนมีหน้าที่อนุรักษ์และรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัส

การท่องเที่ยวบางครั้งไม่จำเป็นต้องดูตามฤดูกาลเสมอไป ขอเพียงทุกคนพร้อมปล่อยใจไปกับธรรมชาติรอบข้าง และเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในทุกสถานที่ท่องเที่ย ความงามของแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นก็จะยืนยาว และพร้อมชดเชยสิ่งดีๆกลับมาหาทุกคนแน่นอน

ผามออีแดง อยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ ผ่านทางแยกเข้าอำเภอกันทรลักษณ์ลงไปทางใต้ ห่างจากอำเภอกันทรลักษณ์ประมาณ 34 กิโลเมตร

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น