วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ออกพรรษา-ตักบาตรเทโว

ออกพรรษา-ตักบาตรเทโว

ออกพรรษา-ตักบาตรเทโว : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์


         
 "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย

พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
            เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
            สำหรับคำว่า "ออกพรรษา" นั้น พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า การพ้นกำหนดระยะเวลาการเข้าพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว
            ออกพรรษา ไม่ต้องกล่าวคำอธิษฐานเหมือนเข้าพรรษา เมื่อครบกำหนด ๓ เดือน แล้วก็เป็นอันออกพรรษา
            พรรษา มีระยะกาลออก ๒ ครั้ง เหมือนเข้าพรรษา คือ ถ้าถือปุริมพรรษาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ออกพรรษาก็เป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถ้าเจ้าปัจฉิมพรรษา ออกพรรษาก็เป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
            ในวันออกพรรษา พระธรรมวินัยกำหนดให้พระสงฆ์ผู้จำพรรษาทำปวารณาก่อนที่จะแยกย้ายกันไป วันออกพรรษา จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา
            ส่วนคำว่า "ตักบาตรเทโว" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว่ว่า การทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คำว่า "เทโว" ย่อมาจากคำว่า "เทโวโรหนะ" ซึ่งแปลว่า การเสด็จลงมาจากเทวโลก
            ความเดิมมีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพุทธมารดา ครั้นออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แล้วจึงเสด็จลงมาจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร รุ่งขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรในวันนั้น จึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทโวโรหนะ ต่อมาเรียกกร่อนเหลือเพียง ตักบาตรเทโว
            เพื่อระลึกถึงวันนั้นจึงนิยมตักบาตรเทโวกันจนเป็นประเพณีสืบสานมาตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น