วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปีแห่งพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔


ปีแห่งพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาแปดสิบสี่พรรษานั้น นำความปลื้มปีติอย่างท่วมท้นมาสู่ประชาราษฎร์ รวมไปถึงประชาคมคาทอลิกในราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระราชจริยวัตรที่ทรงสืบสานและเกื้อกูลสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสำนักวาติกัน ที่นับเนื่องมาถึงสี่ศตวรรษ ให้ยั่งยืนสถาพรจวบจนปัจจุบัน
   
คณะผู้แทนของพระศาสนจักรคาทอลิกในสยามประเทศได้ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๖๙ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งตรงกับสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา อินโนเซนต์ที่ ๙ นับแต่นั้นมาเป็นที่ประจักษ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสันตะสำนักและราชอาณาจักรไทยได้ดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้น จนในปีคริสต์ศักราช ๑๙๖๙ ทั้งสองประเทศจึงได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้พระศาสนจักรคาทอลิกได้ร่วมสรรค์สร้างสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนในราชอาณาจักรไทยมาช้านานนับศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข
   
เมื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกันขององค์พระประมุขของไทย กล่าวคือการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี ค.ศ. ๑๘๙๗ และการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ตลอดจนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกรับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ ๒ ในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นั้น
   
คริสตชนไทยทุกคนต่างตระหนักเสมอว่า ราชไมตรีขององค์พระประมุขทั้งสองประเทศอันนับเนื่องมายาวนานได้สร้างแรงบันดาลใจและพลังแก่ทุกคนในประชาคมคาทอลิก ตั้งแต่ระดับมุขนายก บาทหลวง บรรดานักบวช ไปจนถึงสัตบุรุษน้อยใหญ่ ให้มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์เสมอมา ดังจะเห็นได้จากพันธกิจของพระศาสนจักรคาทอลิกในกิจการด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมไปถึงการให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้อพยพและผู้ประสบภัยพิบัติ  ซึ่งมุ่งเน้นที่จะธำรงดุลยภาพระหว่างการพัฒนาด้านจิตใจกับการพัฒนาทางวัตถุ ภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทายของสังคมโลกาภิวัตน์ พันธกิจเหล่านี้ยังครอบคลุมถึงศาสนสัมพันธ์ ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมความเชื่อต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นอย่างถ้วนหน้า
   
สำนักวาติกันและพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต่างประจักษ์แจ้งเสมอมาว่าพระเมตตาต่อประชาราษฎร์ พระราชจริยวัตรต่อทุกศาสนา พระราชอุตสาหะในพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ และพระปรีชาสามารถในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้เอง คือ บ่อเกิดแห่งกำลังใจให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าใฝ่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอยู่เสมอ
   
ประเทศไทยและสำนักวาติกันต่างยึดมั่นในอุดมการณ์ในอันที่จะจรรโลงสันติภาพมาสู่ประชาคมโลก อีกทั้งจักส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และธำรงศักดิ์ศรีของมนุษย์ ดังปรากฏในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและสังคมสากล ว่าสำนักวาติกันและพระศาสนจักรคาทอลิกได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ อันมุ่งเน้นพัฒนาสภาวะทางจิตใจและจริยธรรม พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ตลอดรัชสมัยนั้น เป็นดั่งต้นแบบแห่งเมตตาธรรม ความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์และความสุภาพอ่อนโยนอย่างเป็นเอกลักษณ์ไทย ดังนั้น พระเมตตาและพระมหากรุณาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย จึงหล่อหลอมดวงใจทุกดวงของคนไทยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งน้อมนำความจงรักภักดีของคนทั้งชาติต่อสถาบันอันสูงสุดนี้
   
ในฐานะที่ทรงเป็น “องค์อัครศาสนูปถัมภก” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโอกาส สิทธิ และเสรีภาพแก่ศาสนิกชนจากทุกศาสนาและนิกายหลายหลาก เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อและรูปแบบจารีตของตน นี่คือเอกลักษณ์ไทยที่ธำรงอยู่มาช้านาน ควบคู่กับขันติธรรมของประชาชาติ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารและพระบรมราโชบายที่มุ่งจรรโลงสันติภาพ ความสามัคคีในชาติ และภราดรภาพ ดุจดั่งครอบครัวเดียวกัน คริสตศาสนิกชนในประเทศไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาและพระเมตตานี้ จึงมุ่งดำเนินชีวิตภายใต้ครรลองแห่งพระวาจาของพระเจ้า พร้อมอุทิศตนและงานเพื่อประโยชน์สุขของประเทศและผู้ด้อยโอกาส ประหนึ่งการเดินตามรอยพระยุคลบาท
   
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าในนามของประชาคมพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยขอเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์อัครศาสนูปถัมภกไว้เหนือเกล้า พระราชจริยวัตรอันงดงามที่ปรากฏต่อเหล่าศาสนิกของทุกศาสนานั้นก่อเกื้อให้แผ่นดินไทยเป็นราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
   
ข้าพเจ้าขอร่วมใจกับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพร ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเจริญด้วยพระพลานามัยที่สมบูรณ์ พระบารมีแผ่ไพศาล สถิตอยู่เป็นมิ่งขวัญของปวงประชาราษฎรตราบเท่านาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า พระอัครสังฆราชโจวานนี ดานีเอลโล อัครสมณทูต แห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

สำหรับนครรัฐวาติกัน ตั้งอยู่ภายในเขตกรุงโรม ประเทศอิตาลี มีนครรัฐวาติกันเป็นเมืองหลวง ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาวอุณหภูมิปานกลางและมีฝนตก ฤดูร้อนอากาศร้อนแห้ง ภาษาราชการที่ใช้คือภาษาอิตาเลียนและลาติน ประชากรนับถือศาสนาโรมันคาทอลิก

การปกครอง เป็นแบบรัฐเอกราช มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุข การบริหารกระทำผ่านสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) และมีเลขาธิการแห่งรัฐ(Secretary of State) เทียบเท่านายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะหน่วยงานระดับกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 9 หน่วยงาน เรียกว่า Sacred Congregations

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนครรัฐวาติกัน เว็บไชต์ของกระทรวงการต่างประเทศ (www.mfa.go.th) บันทึกว่า ราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1969 ฝ่ายไทยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดูแลความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 คือ คาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ไทย-วาติกันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1662 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 7 ได้จัดส่งคณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นคณะผู้ก่อตั้งคริสตศาสนาในไทยเป็นคณะแรก

ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 ได้มีพระราชสาส์นมาถวายพระพรสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1679 ซึ่งทรงมีพระราชสาส์นตอบในปี ค.ศ. 1680 แต่เรืออัญเชิญพระราชสาสน์ประสบอุบัติเหตุแตกกลางทะเล สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 จึงได้มีพระราชสาส์นมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687 ต่อมา ในปี ค.ศ. 1688 สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งคณะนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางไปยังกรุงโรม เพื่ออัญเชิญพระราชสาส์นตอบ ไปถวาย ลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1688 ในปลายศตวรรษที่ 17 เกิดความปั่นป่วนในพระราชอาณาจักรจากการสงครามกับพม่าซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด คริสตจักรในกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทำลายลง

ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา คริสตจักรได้เริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์นติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 9 ระหว่างปี ค.ศ. 1851-1861 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน ในระหว่างเสด็จฯ ประพาสยุโรปในปี ค.ศ. 1897 และได้ทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Leo ที่ 13 นับเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งแรกในระดับประมุขของประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกัน ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนกรุงโรม และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 11 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1934

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ประพาสนครวาติกันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1960 และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา John ที่ 23

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก (State Visit) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 ในโอกาสเดียวกับที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างการเยือน สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้เยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงเรียกร้องวิงวอนให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้ง ยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทด้วย

การฉลองครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน ปี ค.ศ. 1994

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยได้จัดให้มีการตีพิมพ์บทความและสาส์น ของ Monsignor Luigi Bressan เอกอัครสมณทูตวาติกันฯ ใน Supplement ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในโอกาสการครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-วาติกัน

ในโอกาสการฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง ได้ประทานเครื่องอิสริยาภรณ์ Knight Grand Cross of the Pian Order ให้แก่นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทยเป็นผู้มอบเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1994 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกให้แก่ H.E. Archbishop Jean Louis Tauran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนครรัฐวาติกัน โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำนครรัฐวาติกันเป็นผู้มอบเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1997

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น