ถ้าเปิดปูมประวัติศาสตร์จะพบว่า “เชียง คาน” ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอขนาดเล็ก อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเลยนั้น มีอายุอานามนับ 1,154 ปี ด้วย “ขุนคาม” โอรสของ “ขุนคัว” แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1400 โดยเริ่มแรกเชื่อว่าน่าจะตั้งอยู่ที่เมือง “ชะนะคาม” ซึ่งมีความหมายว่า ชนะสงคราม ในดินแดนล้านช้าง
แต่เพราะล้านช้างมีความจำเป็นต้องแยกการปกครองออกเป็นสองอาณาจักร ในปี พ.ศ.2250 คือ อาณาจักรหลวงพระบาง ที่มีเขตแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไป กับอาณาจักรเวียงจันทน์ที่อยู่ใต้แม่น้ำเหืองลงมา ในยามนั้นเองที่หลวงพระบางได้ลงมือสร้างเมืองปากเหือง ซึ่งอยู่ตรงฝั่งขวาแม่น้ำโขงขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน ขณะที่เวียงจันทน์เองก็ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน
ปี พ.ศ. 2320 เป็นปีที่อาณาจักรล้านช้าง ถูกรวมเข้ากับราชอาณาจักรไทยในฐานะประเทศราช บรรดาผู้คนได้ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ยังเมืองปาก
เหืองกันมากขึ้น
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ คิดจะกอบกู้เอกราชโดยเข้ายึดเมืองนครราชสีมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกคุณหญิงโมนำชาวบ้านลุกขึ้นต่อต้าน ครั้งนั้นฝ่ายไทยยังได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้าไปยังเมืองปากเหืองกันเพิ่มมากขึ้น ต่อมาก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุพินาศ (ต้นสกุลเครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองคนแรก พร้อมกับพระราชทานชื่อเมืองเสียใหม่ว่า “เชียงคาน”
ประวัติศาสตร์ยังระบุถึงความเป็นมาเป็นไปของเมืองเชียงคานอีกว่า ในกาลต่อมาจีนฮ่อฮึกเหิมคิดยกกองทัพเข้าไปตีเมืองเวียงจันทน์ กับหลวงพระบาง โดยได้เข้าไปปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นผลให้ชาวเชียงคานเดิม ต้องอพยพผู้คนไปอาศัยอยู่ยังเมืองเชียงคานใหม่ หรือก็คือ เมืองปากเหือง
หลังจากนั้นไม่นานเกิดพบว่าเมืองเชียงคานใหม่ไม่มีความเหมาะสม จึงได้พากันอพยพไปอยู่ กันที่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งใกล้กันกับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ด้วยว่า “เมืองใหม่เชียงคาน”
ในคราวที่ไทยจำต้องเสียพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส คนไทยที่ติดอยู่ในฝั่งดังกล่าว จำต้องหลีกลี้หนีภัยเข้ามายังเมืองใหม่เชียงคาน ซึ่งก็คืออำเภอเชียงคาน ที่คนต่างถิ่นต่างจับจ้องตาเป็นมันกันอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
ถ้าย้อนกลับไปก่อนช่วงปี พ.ศ. 2518 ก่อนที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมเต็มรูปแบบ ดินแดนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเชียงคาน คือ บ้านตากแดด เมืองสารคาม แขวงเวียงจันทน์ ขณะนั้นยังเป็นถิ่นที่ตั้งของโรงเลื่อยไม้แปรรูป มีพ่อค้าไม้มากหน้าหลายตา วนเวียนเข้าไปทำธุรกิจกันไม่ขาดสาย
ขณะที่ฝั่งเชียงคานเอง ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าสำคัญริมฝั่งโขง ที่เหล่าเรือบรรทุกสินค้าจากเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย จะล่องลงมาแวะพักแรมคืน ก่อนที่จะนำสินค้าทั้งหมดเดินทางต่อไปยังเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ใกล้กันกับเมืองหลวงพระบาง เพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
เชียงคานในยุคสมัยนั้น จึงถูกกล่าวขานกันว่า เป็นเมืองท่าที่คึกคักด้วยบรรดาพ่อค้าผ่านเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน นั่นจึงเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงแรมขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านเชียงคาน และเพราะการซื้อหาไม้แปรรูปได้ง่ายจากโรงเลื่อยฝั่งตรงข้ามอีกเช่นกัน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนธุรกิจโรงแรมในยุคนั้น จึงถูกออกแบบให้เป็นบ้านเรือนไม้แบบเรียบง่าย ตลอดแนวฝั่งโขงระยะทางยาวเกือบ 3 กิโลเมตร หรือเรียกขานกันว่าถนนชายโขงในปัจจุบันนี้
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝั่งเพื่อนบ้าน ความเป็นเมืองท่าของเชียงคานได้ถูกลบเลือนไปในที่สุด ชาวท้องถิ่นเชียงคานจึงต้องหันมาใช้ชีวิตกันแบบสำรวม คือปลูกพืชสวนครัวไว้แค่พอทำกินบางรายก็หันมาค้าขายกับผลผลิตทางเกษตรเล็ก ๆ น้อย ๆ มีบางครัวเรือนลงทุนปิดประตูเรือนไม้ แบบทิ้งถิ่นชั่วคราวไปแสวงหารายได้กันในเมืองหลวง
นี่คือภาพของเชียงคานในอดีตที่ผ่าน ๆ มา...แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง หรือเมื่อประมาณปี พ.ศ.2551 เกิดมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนิยมชมชื่นในวิถีที่เรียบง่ายของชุมชนเชียงคานเดินทางมาถึง พวกเขาหลงใหลกับการขอพักแรมคืนอยู่ในบ้านเก่า ๆ หรือ โรงแรมเรือนไม้ ที่ยังคงสภาพไม่ต่างโรงเตี๊ยมของเหล่าพ่อค้าวานิชในอดีต โดยยินดีจ่ายค่าเช่าพักคืนละ 60-100 บาท ห้องน้ำห้องท่าก็ยินดีที่จะใช้แบบรวมกันภายนอกห้องนอน
พวกเขาพอใจกับการได้สัมผัสวัฒนธรรมชาวท้องถิ่นที่ดูเป็นมิตร และใช้ภาษาพูดจากันด้วยถ้อยคำสำเนียงที่ฟังแล้วนุ่มนวลอ่อนหวานไม่ต่างสุ้มเสียงชาวหลวงพระบาง เมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง ที่บรรพบุรุษเชียงคานเคยพัวพันถึงกันมาก่อน เสน่ห์อันน่าจับต้องยิ่งกว่านั้น ก็ตรงถิ่นนี้แม้แต่วันนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนสงบร่มเย็น ชาวประชายังคงหันหน้าเข้าหาความสุข กับการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี
เห็นได้จากความขยันตื่นกันแต่เช้าตรู่ เพื่อออกไปรอ ใส่บาตรข้าวเหนียว แม้อากาศยามเช้าจะหนาวเพราะไอหมอกกับละอองน้ำค้างจะยังกรุ่นอยู่ แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกสะท้าน วัดวาอารามที่ขนาบอยู่รอบข้างชุมชนยังดูเป็นศาสนสถานซึ่งหมายถึงถิ่นรวมตัว เพื่อทำนุบำรุงศาสนา และฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ไม่ให้ตกหล่น
ที่น่าสนใจในสายตาของนักอนุรักษนิยมด้านศิลปะสถาปัตยกรรม เฉพาะที่วัดศรีคุณเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของชุมชนย่านถนนชายโขงตรงนั้น นับเป็นวัดที่มีพระอุโบสถสวยสดงดงาม ละม้ายคล้ายกันกับพระอุโบสถวัดเชียงทอง แห่งเมืองหลวงพระบาง อีกทั้งสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไม้แต่ละหลัง ก็ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ไม่นานนับจากวันนั้น...เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่กล่าวขานกันไป ทำให้ขบวนนักท่องเที่ยวรสนิยมดังกล่าวเริ่มต้นหักเหทิศทาง จากที่เคยเดินทางท่องเที่ยวแถบเมืองปาย ในเมืองสามหมอก และนันทบุรี ศรีนครน่าน แห่งอาณาจักรล้านนา ก็หันมาเที่ยวชมเมืองชะนะขาม ของพ่อขุนคามแทนถิ่นนั้น ๆ
นี่จึงเป็นที่มาของบานประตูบ้านเรือนไม้หลังเก่า ๆ แทบจะทุกหลังของเชียงคาน ได้ถูกเปิดอ้าออกรับคนต่างถิ่นที่เดินทางมาเพื่อท่องเที่ยวและสัมผัส โดยมีการบรรจุสินค้าทั้งประเภทบริการ อาทิ โรงแรม เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ หรือไม่ก็เป็นร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกทั้งเก่าและใหม่ จักรยานให้เช่า รวมถึงร้านกินดื่มประเภทของว่าง ชา กาแฟ ซึ่งทั้งหมดปรากฏอยู่ภายในบ้านเรือนไม้หลังเก่า ๆ ที่ถูกอนุรักษ์ไว้
กับเป็นที่รับรู้กันว่าคนที่เคยทิ้งถิ่นไปทำมาหากินยังถิ่นอื่น ได้เวลาที่จะย้อนกลับมาปัดกวาดบ้านเรือนที่เปื้อนฝุ่น ให้เป็นสถานประกอบการเหมือนครัวเรือนอื่น จนแทบจะหาห้องว่างไม่เจอ
และก็เพราะเป็นการตื่นตัวของคนต่างถิ่น ที่พากันเดินทางเข้าไปมากมายทั้งวันหยุดปกติ และวันหยุดยาวนาน ที่รัฐบาลประชานิยมประเคนให้ จนถนนชายโขงแน่นขนัดไปด้วยคนเดินทาง ทำให้ห้องพักที่มีอยู่จำนวน 300 ห้อง ถูกจองเต็มล่วงหน้า ส่งผลให้องค์กรส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลเชียงคาน ต้องลุกขึ้นมาตราเทศบัญญัติ ว่าด้วยการควบคุมอาคารเรือนไม้เหล่านั้นเอาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ โดยการกำหนดข้อห้ามที่ว่าความสูงต้องไม่เกิน 2 ชั้น มิให้มีเพิงหรือแผงลอย ที่น่าดีใจคือ ป้องกันสถานบริการแบบสร้างความเสื่อมโทรมทุกชนิด เว้นไม่ให้มีอู่ซ่อมรถ โกดังสินค้า สถานเก็บเชื้อเพลิง ฯลฯ
นี่คือความรับผิดชอบของท้องถิ่นที่ดูน่าชื่นใจ และน่ายกย่องก็ตรงที่คนเชียงคานเองก็มีค่านิยมอยู่ว่าบ้านเรือนทุกหลัง แผ่นกระดานทุกแผ่น ล้วนเป็นมรดกที่บุพการีถ่ายโอนไว้ให้เป็นทรัพย์สินตกทอด ถ้าใครคิดขายเปลี่ยนมือ คน ๆ นั้น สมควรที่จะถูกประณามหยามเหยียดจากคนเชียงคานด้วยกัน!
ซึ่งก็สอดรับกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามแผนการท่องเที่ยวประจำปี 2555 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเริ่มใช้กันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ โดยแผนดังกล่าวเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพของแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรมและวิถีชุมชนเป็นสำคัญ ภายใต้แคมเปญ ที่ว่า “เที่ยวหัวใจใหม่...เมืองไทยยั่งยืน”
แต่ในขณะเดียวกัน ถึงวันนี้ชาวเชียงคานจะมีลมหายใจผูกพันอยู่กับนักท่องเที่ยว พวกเขาก็ยังมีวิตกอยู่บ้างเหมือนกัน กับนักท่องเที่ยวต่างเมืองที่โหมกระหน่ำกันเข้าไป เพราะทุกวันนี้คนหลายกลุ่มเริ่มเป็นกลุ่มท่องเที่ยวแฟนซี คือมีแต่ข้อเรียกร้องเป็นเงื่อนไข เช่น อยากได้ห้องพักติดเครื่องปรับอากาศ ปฏิเสธห้องน้ำรวมภายนอก ต้องมีโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น น้ำร้อน อยู่ภายในห้องพัก สถานบันเทิงเริงรมย์ ยามค่ำคืนก็เป็นสิ่งที่ถูกเรียกหา
“เราอยากได้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเห็นวิถีชีวิตของพวกเรา ไม่ใช่ให้เรามาปรับวิถีเพื่อความสบายของพวกเขา”
นี่คือคำยืนยันจากชาวเชียงคาน!.
ทีมวาไรตี้
...........................................................................................
รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว
คำขวัญประจำอำเภอเชียงคาน - “เมืองคนงาม ข้าวหลามยาว มะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วเกาะแก่ง แหล่งวัฒนธรรม น้อมนำศูนย์ศิลปาชีพ”
ระยะทาง - จ.เลย อยู่ห่างกรุงเทพฯ ประมาณ 540 กิโลเมตร อ.เชียงคาน อยู่ห่าง จ.เลย 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 201
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ - วิถีชุมชนและถนนคนเดินบนเส้นทางถนนชายโขง และถนนศรีเชียงคานวัดศรีคุณเมือง, แก่งคุดคู้, พระพุทธบาทภูควายเงิน, พระใหญ่ภูคกงิ้ว
ระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว - สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่สุดคือฤดูหนาวปลายปี
ของฝากจากเชียงคาน - มะพร้าวแก้ว, ผ้านวม
ของกินที่แนะนำ – ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว (ขนมจีนน้ำซุป) ป้าน้ำหวาน ถนนศรีเชียงคาน ซอย 14 ร้านหลวงพระบาง ถนนชายโขง เช่น เอาะหลาม, และแจ่วบองหลวงพระบาง, ไข่แผ่นหรือสาหร่ายน้ำจืดทอดโรยงา
ที่พัก - ถนนชายโขง ถนนศรีเชียงคาน มีห้องพักประมาณ 300 ห้อง ที่พักภายใน อ.เชียงคาน โดยรวมรับนักท่องเที่ยวได้คืนละประมาณ 3,000 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น