วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

“แซนโฎนตา”


เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก “วันสารท” เพราะไม่ว่าจะเป็นวันสารทไทย หรือวันสารทจีน ก็ถือเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาอย่างเนิ่นนาน เพราะมีความเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ในช่วงประเพณีสำคัญดังกล่าว รายงานพิเศษ วันนี้จะพาไปรู้จักประเพณีวันสารทของชาวไทยเชื้อสายเขมรในถิ่นอีสานใต้ ภายใต้ชื่อ “ประเพณีแซนโฎนตา”

“แซนโฎนตา” หากแปลเป็นภาษาไทยจะแปลได้ว่า แซน = เซ่นไหว้ , โฎน = ยาย (บรรพบุรุษฝ่ายหญิง) , ตา = ตา (บรรพบุรุษฝ่ายชาย) ซึ่งรวมแล้วก็คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรยังคงอนุรักษ์สืบสานกันมาเป็นเวลานาน อย่างที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี สำหรับปีนี้ได้จัดงานไปเมื่อวันที่ 22-23 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีใหญ่ของจังหวัด ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย

พิธีกรรมดังกล่าว  เริ่มปฏิบัติขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีการกล่าวกันมาว่า ในรอบ 1 ปี คือ เริ่มตั้งแต่ขึ้น  1  ค่ำ  เดือน 10  ถึงแรม 15 ค่ำ  เดือน 10 พยายมราชจะปลดปล่อยเหล่าสัตว์นรกมารับบุญกุศลจากลูกหลาน ญาติมิตร พี่น้องได้  1  ครั้ง แล้วจึงกลับไปรับโทษทัณฑ์ในนรกภูมิต่อไปจนสิ้นกรรม ญาติพีน้อง ลูกหลาน จึงถือฤกษ์ในช่วงเวลานั้นทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับไปขึ้น

การประกอบพิธีแซนโฎนตา จะเริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเป็นพิเศษ และเตรียมเครื่องสักการะเซ่นไหว้ ประกอบด้วยเครื่องสักการบูชา เช่น ธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ น้ำอบ เครื่องหอม สไบ ผ้าขาวม้า ฯลฯเครื่องเซ่นไหว้หรือเครื่องกระยาสังเวย ทั้งอาหารคาวหวาน ข้าวสวย  ข้าวเหนียว ปลาย่าง  ไก่ย่าง

รวมถึงอาหารประเภทข้าวต้ม เช่น ข้าวต้มหมู ข้าวต้มด่าง ข้าวต้มมะพร้าว และขนมต่างๆ อาทิ ขนมเทียน ข้าวเม่า ขนมเข่ง ผล กระยาสราท ผลไม้และกล้วยสุกชนิดต่างๆ เครื่องดื่มทั้งเหล้า น้ำอัดลมน้ำสะอาด เครื่องเซ่นเหล่านี้แต่ละบ้านอาจมีอาหารบางชนิดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นของที่ที่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเคยชอบทั้งสิ้น

เช้าวันรุ่งในวันแรม 14 ค่ำซึ่งเป็นวันประกอบพิธี ญาติพี่น้องทุกคนในครอบครัวก็จะได้มาพบปะกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พอได้เวลา หัวหน้าครอบครัวจะเรียกหาลูกหลานมานั่งพร้อมกันล้อมเครื่องสักการะกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยพร้อมกัน แล้วสวดชุมชุมนุมเทวดาให้ท่านลงมารับรู้รับทราบเป็นสักขีพยานในการพิธี  “แซนโฎนตา” จากนั้นกล่าวเชื้อเชิญดวงวิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดยระบุชื่อและนามสกุล ที่จำชื่อไม่ได้ก็จะเรียกรวมว่า “โฎนตา”

ต่อกันด้วยการกรวดน้ำหน้าเครื่องเซ่นไหว้ซึ่งจะทำ 2-3 ครั้ง เพราะว่าญาติแต่ละคนต่างก็เดินทางมาจากคนละทิศคนละทาง  หรือคนละภพภูมิ ระยะทางใกล้ไกลไม่เท่ากัน ฉะนั้นลูกหลานจึงจะต้องเรียกเชิญอีก  2 - 3 ครั้ง ทิ้งช่วงระยะหนึ่งกะว่าโฎนตาอิ่มหนำสำราญทั่วหน้ากันแล้ว  จึงกรวดน้ำอีกครั้ง  เป็นการลาสำรับบอกให้ปู่ย่าตายายล้างมือล้างปากเคี้ยวหมากสูบบุหรี่  ให้สบายอกสบายใจ  แล้วจึงค่อยตามลูกหลานไปวัดเพื่อรับศีลและฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นลูกหลานก็จะถอยสำรับกับข้าวลงมาเลี้ยงดูกันเอง แล้วจึงพากันไปวัดเพื่อฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ โดยไม่ลืมที่จะเชิญโฎนตาไปด้วย

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของประเพณีแซนโฎนตาก็คือการเตรียม “บายตะเบิ๊ดตะโบร” และ “บายเบ็ญ” เพื่อใช้ประกอบพิธีในวันแรม 15 ค่ำ “บายตะเบิ๊ดตะโบร” คือของถวายพระที่จัดใส่ภาชนะ เช่น กาละมังใบเล็ก หรือกระบุง จัดให้มีถ้วยใบหนึ่งใส่ไว้ตรงกลาง เย็บกรวยด้วยใบตองครอบไว้ ข้างในใส่ข้าวเหนียวนึ่งแล้วปิดปากกรวยด้วยเงินเหรียญ แล้วนำกรวยวางลงในถ้วย คล้องด้วยฝ้าย 1 ไจ รอบกรวยจัดวางกล้วยน้ำว้าสุก 1 หวี ข้าวต้มด่าง 1 พวง ข้าวต้มผัด รวมถึงอาหารแห้ง เช่น ไก่ย่าง ปลาหรือหมูย่าง

สำหรับ “บายเบ็ญ” คืออาหารที่เตรียมไว้ในกระทงเล็กๆ 20-30 กระทง บรรจุ ขนม ผลไม้ อาหารคาว หวาน ตั้งไว้นอกรั้วบ้าน สำหรับผีที่ไม่มีญาติจัดเครื่องเซ่นไหว้ให้ ส่วนสิ่งของที่อยู่ในกระทงเล็กๆเหล่านั้น  เมื่อพระสวดมาติกาบังสุกุลและอนุโมทนาให้แล้ว ก็จะนำไปวางไว้ตามทางสามแพร่ง โคนต้นไม้ หัวไร่ปลายนา อุทิศให้สัมภเวสีผีเร่ร่อน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารต่อไป

ปิดท้ายด้วยพิธีการสำคัญคือการส่งโฎนตากลับบ้าน โดยการจัดกับข้าวเซ่นบอกปู่ย่าตายายกลับสู่ภพภูมิเดิมโดยให้นำเอาโรคาพยาธิต่างๆ ไปด้วย ทิ้งไว้แต่ความเป็นสิริมงคล ความสุข ความเจริญ แก่ลูกหลาน แล้วนำเอาเสบียงอาหารส่วนหนึ่งใส่ลงในเรือที่ทำจากกาบกล้วย จัดทำหุ่นสมมุติวางไว้ท้ายแทน “โฎนตา” ให้ปู่ย่าตายายนำติดตัวไป ลอยในแม่น้ำ ลำคลอง ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ แล้วกลับมาพบลูกหลานใหม่ในปีต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ

เนื่องในประเพณีสำคัญนี้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดงาน “ย้อนรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี” ขึ้นก่อนวันประกอบพิธีในชุมชนหรือหมู่บ้าน 2-3 วัน เพื่อให้ประชาชนชาวขุขันธ์ และนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจ มีโอกาสเข้ามาร่วมงานอย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสดีที่ชาวเมืองจะได้ร่วมกันเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก และเจ้าเมืองขุขันธ์คนต่อๆมารวม 9 ท่าน

ในปีนี้อำเภอขุขันธ์ได้จัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีทั้งขบวนแห่ยาวเหยียดจากชาวบ้านแต่ละตำบล พร้อมการแสดงร่ายรำสมัยโบราณต่างๆมากมาย เพื่อประกวดความงาม และความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน แสดงออกถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ  ภาคเอกชนและท้องถิ่นในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น  เป็นการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง

ประเพณีดีงามที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณไม่ว่าจะเป็นประเพณีใด ขอเพียงช่วยกันอนุรักษ์ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา และสืบทอดเรื่องราวเหล่านั้นจากรุ่นสู่รุ่น  เพื่อปลูกฝังสิ่งดีๆแก่คนรุ่นหลังต่อไป เท่านี้ก็ถือว่าทุกคนได้เป็นส่วนสำคัญในการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษแล้ว

ณัฐพงษ์ โปธา
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น