วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเชื่อ-ศรัทธา-วิทยาศาสตร์ ปู่อือลือ พญานาคบึงโขงหลง-ปรากฏการณ์เลคเวค

  
 
บึงโขงหลงเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความกว้าง 2 กิโลเมตร ยาว 13 กิโลเมตร ในเขตเทศบาลตำบลบึงโขงหลง  อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ  ปัจจุบันเต็มไปด้วยความคึกคัก แต่ละวันมีผู้คนไปจับจองที่เพื่อรอดูพญานาคปู่อือลือกันอย่างมากมาย ทั้งที่พัก ร้านค้าต่าง ๆ ถูกจองเข้าใช้บริการ คาดมีเงินสะพัดหลายล้านบาท
   
ความฮือฮามีจุดเริ่มต้นจาก พ.ต.อ. ชยรพ สายจันยนต์ ผกก.สภ.บึงโขงหลง  เปิดเผยว่า ได้รับการสื่อสารจาก ปู่อือลือ หรือพญานาคที่อาศัยอยู่ในบึงโขงหลง พร้อมนัดหมายเวลาปรากฏกาย จนเป็น ข่าวดังแพร่สะพัดไปทั่วประเทศ เมื่อถึงเวลานัด ปู่อือลือก็มาให้เห็นกันจริง ๆ เรียกเสียงฮือฮา พร้อมเสียงสาธุ  
   
นอกจากนั้นปู่อือลือยังมานอกรอบให้คนหาปลาในบึงได้เห็นกันอีกหลายหน  โดยตำนานปู่อือลือนั้นเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากของชาวบ้านในท้องถิ่นมานานนับร้อยปี ชาวบ้านเชื่อว่าปู่อือลือออกมาว่ายน้ำ    ในบึงทุกวัน ส่วนจะปรากฏกายให้เห็นหรือไม่นั้นอยู่ที่เจตนาของท่าน
   
จากเรื่องนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และ ผศ. พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์  วิเคราะห์ปรากฏการณ์คลื่นน้ำปริศนาในแบบวิทยาศาสตร์  มีคำอธิบายดังนี้ เงาดำเคลื่อนที่อยู่กลางบึงเป็นแนวยาวประมาณ 10-20 เมตร เหมือนมีอะไรบางอย่างเคลื่อนที่ดำผุดดำว่ายบิดไปบิดมาอยู่บริเวณนั้นไม่ไปไหนเป็นเวลานานหลายนาที บางจังหวะจับภาพได้ว่า เป็นแนวโค้งรูปคลื่น 3 โค้งที่ขึ้นลงนั้น ซึ่งมีกลุ่มคนในห้อง หว้ากอของเว็บบอร์ดพันทิป แสดงความเห็นหลากหลาย เช่น งูขนาดใหญ่ โลมาน้ำจืด ฝูงปลา หรือปลาพญานาค (ปลาออร์) ที่เคยมีรูปทหารอเมริกันจับได้ในลำน้ำโขง ซึ่งความจริงแล้วถ้าเป็นงู เวลาว่ายน้ำก็จะยกหัวขึ้นตลอดเวลา ว่ายเลื้อยซ้ายขวาไม่ดำผุดดำว่ายในแนวตั้งเหมือนกับภาพวิดีโอในข่าว ถ้าเป็นโลมาน้ำจืดจะเห็นกระโดงหลังชัดเจน ถ้าเป็นฝูงปลาก็ขึ้นมาฮุบน้ำเป็นจุด และน่าจะถ่ายรูปครีบหรือหางเอาไว้ได้ ส่วนปลาพญานาค จริง ๆ แล้วเป็นปลาออร์ ไม่มี ในประเทศไทย และในภาพที่ถูกทหารอเมริกันจับได้ที่แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ซึ่งบึงโขงหลงนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของภาคอีสานตอนเหนือ และไม่ปรากฏว่ามีปลาขนาดใหญ่มาก หรือสัตว์อื่นที่น่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้
   
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวอีกว่า คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้มาก คือ พญานาคที่เห็นนั้นเป็นแค่คลื่นกระแทกผิวน้ำในทะเลสาบ หรือเลคเวค (Lake Wake) เท่านั้น กรณีบึงโขงหลงนั้นมีผู้จับตามองดูเป็นจำนวนมาก และไม่พบเห็นว่ามีเรือผ่านไป ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีเรือขนาดใหญ่แล่นผ่านไปอย่างช้า ๆ แต่อยู่ไกลมากจนไม่มีใครสนใจมอง และคลื่นจากเรือค่อย ๆเคลื่อนเข้ามาจนกระแทกกับแนวสะท้อนกลับของคลื่นที่กระทบบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง จนเห็นเป็นการม้วนตัวของคลื่นขนาดใหญ่ หรืออาจจะมีสิ่งก่อสร้างบางอย่างที่จมอยู่ใต้บึงโขงหลง เช่น โบสถ์วัดหรืออาคารเก่า ทำให้คลื่นที่เคลื่อนเข้ามาเกิดการยกตัวขึ้นกลายเป็นคลื่นกระแทกผิวน้ำได้
   
ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายด้วยหลักของการหักเหของแสง และการสะท้อนกลับ โดยจะมีตัวกลางสองตัวกลางคือน้ำกับอากาศ เมื่อมีแสงเดินทางมากระทบผิวน้ำ มุมในการเดินทางนั้นก็จะแยกออกเป็น สองทางคือมุมหักเหขึ้นไปบนผิวน้ำ กับมุมสะท้อนกลับ ซึ่งหากมีตัวอะไรอยู่ในน้ำจริง เช่นปลา แล้วยืนมองจากมุมด้านบนก็จะสามารถมองเห็นได้ชัด แต่หากยืนอยู่ในแนวราบใกล้กับผิวน้ำก็จะไม่สามารถมองเห็นได้เลย ฉะนั้นบางคนเห็นเป็นเกล็ด เป็นหัวนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ หลักฟิสิกส์นั้น ไม่มีทางเห็นได้เลย แต่สิ่งที่เห็นก็คือคลื่นกระแทกผิวน้ำในทะเลสาบ หรือเลคเวค
   
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีผู้อ้างว่าสามารถติดต่อกับพญานาคได้ และทำนายถูกต้องว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร       นั้น คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์    ของเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ว่าทำไมถึงหาอาวุธเจอเมื่อตั้งด่านตรวจ ซึ่งก็คือจริง ๆ แล้วปรากฏ การณ์นี้อาจจะมีผู้สังเกตพบว่า เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นได้ที่ตำแหน่งไหนของบึงและเกิดขึ้นช่วงไหน ขณะที่ประชาชนคน อื่น ๆ ไม่ได้ตั้งใจสังเกตดู เมื่อทำนายไปจึงมีโอกาสสูงที่จะทำนายถูก สอดคล้องกับข่าวการปรากฏตัวของพญานาคในวันถัด ๆ มา แม้จะไม่ใช่วันที่นัดหมายกันไว้ก็ตาม
   
เมื่อทุกความเชื่อมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์กระจ่างชัด ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนที่จะเลือกฝั่งไหน ความศรัทธาหรือวิทยาศาสตร์  แต่เมื่อความศรัทธาไม่ได้เลวร้ายหรือสร้างผลเสีย  จึงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ ขอยกคำอมตะมาปิดท้ายว่า “ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น