ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในปีนี้ยกให้ “บัวบก” เป็นสมุนไพรทรงคุณค่าแห่งปี มาดูกันว่า สรรพคุณมีอะไรบ้าง ?
เริ่มจาก พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บัวบกเป็นสมุนไพรที่มีอยู่ทุกที่ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญหาง่าย ใช้คล่อง ปลอดภัย มีการนำมากินเป็นอาหาร ทำเป็นเครื่องดื่ม ทำเป็นยาทั้งกินและทาผิวหนัง แต่ปัจจุบันเครื่องดื่มอย่างน้ำบัวบกอาจจะหายไป ทั้ง ๆ ที่มีสรรพคุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลดการอักเสบ บวม แก้ช้ำนอกช้ำใน แก้กระหายน้ำ บำรุงสุขภาพ และที่สำคัญ คือ บำรุงสมอง ช่วยฟื้นฟูความจำ โดยยาแผนปัจจุบันที่รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อม ความจำเสื่อมจริง ๆ มาจากแปะก๊วย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเชื่อว่าบัวบกไม่ได้น้อยหน้าแปะก๊วย
บัวบกสามารถรับประทานสด ๆ กับน้ำพริกและอาหารอื่น ๆ หรือจะล้างให้สะอาดคั้นน้ำรับประทานสด ๆ แต่ไม่ควรต้ม ส่วนการนำมา
ทำเป็นยานั้นจะนำบัวบกสด ๆ มาตากแห้ง หรือ อบแห้งแล้วทำเป็นผงใส่แคปซูลหรือซองรับประทานแก้ช้ำบวม หรือนำมาชงเป็นชาพร้อมดื่ม
นอกจากนี้ยังมีในรูปเจลหรือครีมบัวบกลดรอยแผลเป็นเพราะมีสารที่สำคัญ คือ “กรดมาดีคาสสิค” และ “กรดเอเชียติก” มีฤทธิ์สมานแผล ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบช่วยให้แผลหายเร็ว จึงมีการนำมาใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือจะใช้ใบบัวบกสดทั้งต้น 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เอาน้ำทาบริเวณที่เป็นแผลเป็นบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น
“ประสบการณ์ของตัวเองคือ เดินชนโต๊ะขาบวมปูด มีน้อง ๆ นำยาบัวบกมาให้ลองกิน ปรากฏว่าขาที่บวมก็ยุบลง หรืออย่างคุณแม่ของตัวหมอระคายเคืองหนังตาบวมแดงอยู่ พอใช้ครีมบัวบกแตะ ๆ แล้วคลึงสักพักปรากฏว่ายุบลงต่อหน้าต่อตา”
ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมการผลิต หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า “บัวบก” หรือ “ผักหนอก” เป็นสมุนไพรที่หมอยาทุกภาคใช้บำรุงร่างกาย บำรุงสมอง บำรุงความจำ บำรุงสายตา บำรุงผม คลายเครียด เป็นยาอายุวัฒนะใช้ได้ทั้งเด็กและคนแก่
จากการสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับบัวบกพบว่า มีฤทธิ์บำรุงสมองเช่นเดียวกับแปะก๊วย คือ เพิ่มความสามารถในการจำ และการเรียนรู้ มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากบัวบกในคุณสมบัติช่วยเพิ่มความสามารถในการจำ
การทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า บัวบกทำให้ลูกหนูมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้น ส่วนการศึกษาในคนพบว่า ทำให้เด็กพิเศษที่กินบัวบกวันละ 500 มก. ติดต่อกัน 3 เดือน มีความสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม และยังมีการศึกษาการเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ โดยใช้สารสกัดบัวบก 750 มก. นาน 2 เดือน พบว่าความจำ การเรียนรู้ อารมณ์ของผู้สูงอายุดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในผู้หญิงอายุเฉลี่ย 33 ปี ที่ได้รับสารสกัดบัวบก 500 มก.วันละ 2 ครั้ง พบว่า ช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและซึมเศร้า
ในขณะที่การศึกษาในระดับเซลล์ถึงกลไกการออกฤทธิ์บำรุงสมอง พบว่า บัวบกทำให้การหายใจในระดับเซลล์สมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์สมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาทและเสริมฤทธิ์การทำงานของสารสื่อประสาทและยังทำให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงสามารถนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้เป็นอาหารเพิ่มไอคิว ความฉลาด ความสามารถในการจำและการเรียนรู้ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กพิเศษ เด็กสมาธิสั้น ส่วนคนทั่วไปบัวบกจะช่วยชะลออาการโรคสมองเสื่อมในวัยชราหรืออัลไซเมอร์ และช่วยคลายเครียด ทำให้มีสมาธิในการทำงาน ปัจจุบันในสหรัฐและหลายประเทศมีบัวบกแคปซูลจำหน่ายในสรรพคุณบำรุงสมอง
ในตำรายาไทยบอกว่า การเก็บบัวบกมาใช้ ควรถอนเอาทั้งต้นและรากมาด้วย ถ้าจะให้สรรพคุณดีที่สุดควรใช้ผักหนอกขมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ การทำให้แห้งไม่ควรเอาไปตากแดด เพราะจะทำให้สูญเสียตัวยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหย ควรผึ่งลมไว้ในที่ร่ม เมื่อยาแห้งใส่ขวดปิดฝาให้สนิท
ตำรับยาบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา บำรุงความจำ
ตำรับที่ 1 บัวบกตากแห้ง 2 ส่วน พริกไทย 1 ส่วน บดเป็นผง กินก่อนนอน ครั้งละครึ่งช้อนชากับน้ำร้อน หรือกินกับน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย
ตำรับที่ 2 บัวบกตากแห้งบดผง ผสมน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย ทำเป็นลูกกลอนเท่าผลมะแว้ง กินครั้งละ 2 เม็ดเช้า เย็น
ตำรับที่ 3 เอาบัวบกมาทั้งราก ต้น ใบ 2-3 ต้น นำมาบดรับประทานกับน้ำร้อน หรืออาจผสมน้ำผึ้งลงไปด้วย
ตำรับที่ 4 บัวบกผงแห้งนำไปบรรจุในแคปซูลประมาณ 500 มก. กินเพื่อบำรุงสุขภาพทั่วไปครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 2 เวลา หลังอาหาร เด็กลดลงตามสัดส่วน
ยาแก้ช้ำในและร้อนใน บัวบกสด 1 กำมือ หรือ 1 แก้ว เอาบัวบกมายัดใส่แก้วพอแน่นในแก้วได้ 1 แก้ว ตำให้ละเอียด เติมน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันกรองและคั้นเอาแต่น้ำปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือเกลือ กินครั้งละ 1 แก้ววันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร กินประมาณ 5-7 วันให้หยุดไปอีก 5-7 วันแล้วจึงเริ่มกินได้อีก
ข้อควรระวัง คือ บัวบกเป็นยาเย็นและมีการสะสมได้ทำให้หนาว ดังนั้นไม่ควรกินทีละเยอะ ๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่กินเป็นกำ ๆ จะต้องกิน ๆ หยุด ๆ ไม่กินติดต่อกันทุกวัน ถ้ากินสด ๆ ทุกวันควรกินแต่น้อย ๆ ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลียหรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรกิน ถ้ากินแล้วมีอาการเวียนหัว ปวดหัว ใจสั่นหรือเต้นผิดปกติ หน้าแดง คันผิวหนัง ท้องร่วงคล้ายเป็นบิด แสดงว่าแพ้ยาหรือกินยามากเกินไป ให้หยุดกินทันที คนที่ม้ามเย็นพร่องมีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจำไม่ควรกิน ผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวาน ยารักษาคอเลสเตอรอลไม่ควรกินเพราะจะทำให้ผลของยาลดลง คนที่กินยาแก้แพ้ ยากันชัก ยานอนหลับ ไม่ควรกิน เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงมากขึ้น และคนท้องหรือหญิงที่ให้นมบุตรไม่ควรกิน
ผลการวิจัยบัวบกเมื่อเทียบกับแปะก๊วยได้ผลเหมือนกัน แต่แปะก๊วยมีการทำวิจัยไปเป็นข้อมูลสนับสนุนการขายในตลาดโลกจึงมีการทำวิจัยมากกว่า ดังนั้นสังคมไทยจะต้องส่งเสริมให้คนไทยกลับมากินพืชผักสมุนไพรอย่างเข้าใจ มิใช่ทำเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว เพราะเดี๋ยวนี้งานวิจัยสมุนไพรต่าง ๆ ที่ออกมาล้วนจดสิทธิบัตรเพื่อการขาย แต่การส่งเสริมว่ากินพืชผักสมุนไพรอย่างไร เช่น กินบัวบกได้วันละกี่ใบ คนไทยยังไม่เข้าใจ
ท้ายนี้ต้องบอกว่า “บัวบก” เป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย ดังนั้นคงไม่ต้องรอให้อกหัก ช้ำใน ก่อนแล้วจึงค่อยกิน !?!.
นวพรรษ บุญชาญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น