ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นสถาปัตยกรรมเป็นแบบเวนีเชี่ยนโกธิคที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ พล.ร.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ว่าจ้างชาวอิตาเลียนชุดที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมให้เป็นผู้ออกแบบ และเป็นผู้สร้าง แต่การสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน และช่างชาวอิตาเลียนกลับประเทศหมด ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปรับปรุง ต่อเติมและตกแต่งจนสำเร็จเรียบร้อย โดยมีเป็นตึก 2 ชั้น แต่ตรงมุมด้านทิศใต้ได้สร้างตอนบนเพิ่มขึ้น เสมือนเป็นตึก 3 ชั้น โดยที่ชั้น 3 ช่องต่าง ๆ ไม่มีบานหน้าต่างติดและไม่มีหลังคา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสมดุลกับมุมอาคารทางทิศเหนือ ซึ่งทำเป็นห้องหลังคาโดม
ภายนอกอาคารโดยทั่วไปเป็นหินล้างพิเศษให้เกิดรูพรุนเล็ก ๆ ที่กำแพง และบัวปูนต่าง ๆ ผนังภายนอกบางส่วน ได้ทาสีคล้ายสีกำแพงหินอ่อน ส่วนยอดตึกมีขอบระเบียงเชิงหลังคาทำเป็นลวดลายโดยติดตราสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ดูกลมกลืนและงามประณีตเป็นอย่างยิ่ง และที่แปลกตาอย่างมากคือปั้นเป็นรูป "หัวไก่" ประดับอยู่ตามใต้กรอบหน้าต่างและตามปลายรางน้ำที่ระบายน้ำฝนจากหลังคาลง ส่วนภายในตึกไทยคู่ฟ้านั้นมีทั้งห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ห้องทำงานของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ห้องรับรองและห้องประชุม เช่น ห้องรับรองสีงาช้างที่ใช้รับรองอาคันตุกะและผู้นำสำคัญทางการเมือง ห้องรับรองสีม่วง ห้องประชุมสีเขียว นอกจากนั้นยังมีการนำภาพถ่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีมาประดับไว้ด้วย
สำหรับห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่บริเวณด้านขวา ชั้น 2 ของตึกไทยคู่ฟ้าและทุกครั้งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งก็จะมีปรับปรุง ตกแต่งภายในห้องทำงานใหม่ตามรสนิยมของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน อย่างกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทตกแต่งภายในชื่อดังมาออกแบบการเพื่อให้ใช้พื้นที่ทั้งหมดอย่างเป็นสัดส่วนและออกมาในสไตส์โมเดริ์นโทนสีเข้ม พร้อมรับติดตั้งระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตึกไทยคู่ฟ้าทำหน้าที่ให้การต้อนรับและทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศมาแล้วถึง 27 คน และขณะนี้กำลังให้การต้อนรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศที่เข้านั่งมาทำงานบริหารประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นประเทศชาติกลับมาสงบสุข สันติ ปรองดองเหมือนอย่างเช่นในอดีต.
สาวิตรี เล็กมณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น