วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคธาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจาง) เดลินิวส์


ปัจจุบันโรคธาลัสซีเมีย นับเป็นโรคที่คนไทยเริ่มรู้จักมากขึ้น โดยคนที่เป็นโรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะต้องเสียชีวิตในที่สุด และเป็นโรคที่ใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก!!
   
รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียสูงถึงกว่า 600,000 คน โดยมีคนไทยที่เป็นพาหะของโรคนี้จำนวนถึง 24 ล้านคนทั่วประเทศ และพบว่าทุก ๆ 1,000 รายของหญิงตั้งครรภ์ จะให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียแบบชนิดร้ายแรงรวม 6-8 คน ซึ่งเป็นสถิติที่น่าใจหาย และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ญาติพี่น้อง และเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นอย่างมาก
   
จากเหตุผลดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จึงได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคธาลัสซีเมียให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. นับเป็นผู้นำและศูนย์กลางในการควบคุมป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกัน รักษา และช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยยากไร้ได้เป็นจำนวนมาก
   
“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคเลือดจางที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่สร้างสายโกลบิน ทำให้ไม่เกิดการสร้างโปรตีนโกลบินหรือสร้างได้เป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างที่ผิดปกติไป เมื่อส่องดูเม็ดเลือดแดงผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะพบเม็ดเลือดที่มีรูปร่างผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรงหรือเป็นเพียงพาหะ ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเลย และตรวจพบว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียโดยเหตุผลอื่น ส่วน ชนิดที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และมักจำเป็นต้องรับเลือดทุก 3-4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการซีด ผู้ป่วยที่มีอาการซีดเรื้อรัง จะมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูก หน้าตา ท้องโตจากอวัยวะภายในคือตับและม้ามที่โตขึ้น ชนิดที่มีอาการรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการซีดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีตับและหัวใจโต เป็นทารกบวมน้ำ และส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน
   
คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือของภาควิชากุมารเวช ศาสตร์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา และทีมแพทย์จากสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารก สาขาโลหิตวิทยา และอีกหลายหน่วยงาน ได้ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในหลาย ๆด้าน เริ่มตั้งแต่หากระบวนการในการคัดกรองคู่สมรสที่มีความเสี่ยงสูง การวินิจฉัยก่อนคลอด รวมทั้งมีการค้นคว้าถึงการรักษาแบบเฉพาะทาง ด้วย การปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ (stem cell) และการรักษาแบบประคับประคอง เช่น เติมเลือด ให้ยาขับธาตุเหล็ก แก้ปัญหาต่อมไร้ท่อผิดปกติ แก้ปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของผู้ป่วย และการแก้ปัญหาเรื่องการติดเชื้อ เป็นต้น คณะแพทย์ฯ ได้มีการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียมาโดยตลอด และได้มีการพัฒนาทั้งการจัดหาเลือดที่มีคุณภาพและพอเพียงจากธนาคารเลือด การให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีดผ่านเครื่องปั๊มให้ยา จนปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายรายที่แม้จะเป็นโรคธาลัสซีเมียที่รุนแรง แต่มารับเลือดอย่างสม่ำเสมอ ดูแลอาหาร การออกกำลังกาย และให้ยาขับธาตุเหล็กชนิดฉีด ซึ่งต้องแทงเข็มฉีดยาผ่านเครื่องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ได้ครบ 5-6 วันต่อสัปดาห์ ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
   
การควบคุม ป้องกันและการดูแลรักษาโรคธาลัสซีเมียของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นี้จะเน้นการทำงานเป็นทีมเป็นหลัก โดยทีมแพทย์จะต้องมีการประสานงานกัน ระหว่างทีมแพทย์และพยาบาลทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม ป้องกัน คัดกรอง และวินิจฉัยก่อนคลอด เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กที่เกิดมานั้นจะไม่เป็นโรคนี้ ซึ่งการควบคุมและป้องกัน จะทำให้โอกาสเกิดผู้ป่วยรายใหม่น้อยลง
   
ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก (สเต็มเซลล์) นี้ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ  ซึ่งจะได้ผลดีในการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือมากที่สุด ซึ่งถ้าในกรณีที่ลูกคนที่ 1 เป็นโรคนี้ เด็กก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และรอให้พ่อแม่ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 โดยตอนตั้งครรภ์แพทย์จะมีการคัดกรอง และวินิจฉัยว่า ลูกคนที่ 2 ที่อยู่ในครรภ์เป็นโรคนี้หรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นก็ต้องระงับการตั้งครรภ์ แต่ถ้าโชคดีไม่เป็นโรคเหมือนพี่ ก็ต้องใช้ขั้นตอนของการเตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก โดยจะต้องมีการเก็บรกของน้องคนที่ 2 มาปลูกถ่ายให้กับพี่คนแรกที่เป็นโรค  ซึ่งการที่เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน โอกาสในการรักษาให้เข้ากันได้ในการปลูกถ่ายไขกระดูกจะมีมากกว่า และทำได้ง่ายกว่า
   
ความสำเร็จของคณะแพทย ศาสตร์ มช.ในการคัดตัวอ่อนทารกอัลฟาธาลัสซีเมีย สำเร็จเป็นรายแรกของไทย และเป็นครั้งที่ 2 ของโลก เป็นทารกเพศชาย ชื่อ “ด.ช.ปกรณ์วิทย์ คันธามารัตน์” ลืมตาดูโลก 2 ต.ค.2551 น้ำหนักแรกคลอด 3,280 กรัม สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปัจจุบันน้องปกรณ์วิทย์ หรือ น้องเปรม ตอนนี้อายุ 3 ขวบแล้ว  รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล หนึ่งในหัวหน้าโครงการวิจัย จากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ขั้นตอนของการดำเนินการคือแพทย์จะฉีดยากระตุ้นฮอร์โมนให้แม่เพื่อให้ได้ไข่ 10-20 ฟอง เมื่อได้ออกมาแล้วจะใช้กรรมวิธีการผสมเทียมเด็กแบบหลอดแก้วโดยนำไข่แต่ละฟองที่ได้นำมาฉีดอสุจิเข้าไปฟองละ 1 ตัว เลี้ยงไว้ 3 วันจะได้ตัวอ่อน 8-10 เซลล์ จากนั้นจะดูดแต่ละเซลล์ออกมาทำการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อดูคุณภาพของตัวอ่อนว่าเป็นเซลล์ที่ปกติ เป็นโรคหรือมียีนแฝงธาลัสซีเมียหรือไม่ ซึ่งช่วงนี้เซลล์จะมีชีวิตอยู่ 24-48 ชั่วโมงก่อนตัวอ่อนตาย เมื่อคัดเลือกจนได้เซลล์ตัวอ่อนที่ปกติออกมาแล้วจึงนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูกของมารดาเพื่อให้ตั้งท้องและคลอดบุตรที่ปลอดธาลัสซีเมีย ซึ่งวิธีการคัดเลือกตัวอ่อนที่ค้นพบนี้พบว่ามีความแม่นยำถึง  99% กรรมวิธีการตรวจดีเอ็นเอของตัวอ่อนนี้ใช้เครื่องมือลูกโซ่เรืองแสง ซึ่งเป็นเครื่องที่มีราคาสูง 10 กว่าล้านบาท สามารถคัดกรองตัวอ่อนของอัลฟาธาลัสซีเมีย จนนำไปสู่การทดลองกับนางอัญชลี คันธามารัตน์ ข้าราชการจาก อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นภรรยาของนายชานน คันธามารัตน์ โดยทั้งคู่มียีนแฝงธาลัสซีเมีย แต่ฝ่ายภรรยาสามารถตั้งท้องโดยเทคโนโลยีดังกล่าวและสามารถคลอดทารกชายคือ ด.ช.ปกรณ์วิทย์ คันธามารัตน์ หรือน้องเปรม ปัจจุบันอายุ 3 ขวบ ออกมาได้โดยปลอดโรคอัลฟาธาลัสซีเมียและมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเป็นอย่างดี    
   
รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกฯ กล่าวว่า งานวันมหิดลปี 2554 นี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันของไทย และร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา  84 พรรษา โดยจะมีการจัดงานมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่รวมถึงการจัดงานถ่ายทอดสดระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ กับกิจกรรมการถ่ายทอดสดงานวันมหิดลชื่องาน “สวนดอกร้อยดวงใจเพื่อชีวิตสดใส ห่างไกลธาลัสซีเมีย” ซึ่งท่านจะได้รับชมละครคณะแพทย์เรื่อง “รักนี้...ไม่มีวันจาง” ชมสารคดีพิเศษที่น่าสนใจ รวมถึงความร่วมมือของนักร้อง “เดอะ สตาร์” ที่จะมาร่วมขับร้องเพลงในรายการถ่ายทอดสดใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2554 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ตั้งแต่เวลา 22.30-00.15 น.
   
ขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมกันทำบุญด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการให้ชีวิตที่สดใส และห่างไกลโรคธาลัสซีเมียให้กับผู้ป่วยยากไร้ และช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ภาคเหนือ ผ่านทางมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก โดย ร่วมบริจาคได้ที่ โทร. 0-5392-0400 และ 0-5394-7400  ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุเทพ เชียงใหม่ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ เลขที่บัญชี 471-2-33333-88 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ เลขที่บัญชี 566-494611-9.

......................................

เคล็ดลับสุขภาพดี : แนะวิธีบริโภคไขมันให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย


ไขมัน ในความรู้สึกของใครหลาย ๆ คนอาจเปรียบเสมือนผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดโรคมากมาย แต่ถ้าเรารู้จักวิธีบริโภคที่ถูกต้องก็จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด วันนี้เคล็ดลับสุขภาพดีมีวิธีบริโภคไขมันให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมาฝากกันค่ะ
   
ผศ.ดร.อริสร์ เทียนประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวให้ความรู้ในงานประชุมวิชาการเรื่อง “รับประทานไขมันอย่างไรให้ได้ประโยชน์” จัดโดย บริษัท มรกต อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ว่า กรดไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายที่ร่างกายควรได้รับในปริมาณไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน จึงจะทำให้เรามั่นใจว่าได้ส่วนประกอบที่เป็น

กรดไขมันจำเป็นต่อร่างกายพอเพียง เพราะวิตามินหลายตัวละลายได้ในไขมัน ถ้าไม่มีไขมันก็จะทำให้เราขาดวิตามินพวกนี้ไปด้วย กรดไขมันมีอยู่ 3 ชนิดคือ กรดไขมันอิ่มตัว (SAFA) ได้จากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์บก เผาผลาญยาก หากรับประทานมากเกินจะส่งผลกระทบต่อการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจ กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ ช่วยในการเผาผลาญได้ดี และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นเราต้องเลี่ยงไขมันที่เป็นปัญหาและรับประทานไขมันตัวที่ดีที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น มีส่วนประกอบของเซลล์ที่ร่างกายต้องการ เพราะเซลล์ของเราถ้าไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งเป็นตัวไขมันก็จะไม่มีเซลล์ และไขมันเป็นส่วนประกอบที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น การจับตัวกันของเกล็ดเลือด ถ้าเราถูกมีดบาดเลือดไหล หากเลือดออกมากเกินไปร่างกายก็จะแย่ จึงต้องเกิดการอุดตันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล สารในไขมันก็จะช่วยได้
   
แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีแผลแต่เกล็ดเลือดในร่างกายอุดตัน ทำให้เป็นปัญหา เช่น เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน เพราะได้รับสารอาหารในไขมันที่มากเกินไป ดังนั้นเราต้องได้รับกรดไขมันอย่างสมดุล คือเวลาที่เราต้องการให้เลือดหยุดไหลก็ต้องหยุด เวลาที่เลือดไม่ควรจะอุดตันต้องไม่ควรเกิด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องได้รับชนิดและปริมาณของไขมันที่พอเหมาะ สำหรับปริมาณนั้นคำนวณว่าร่างกายต้องการพลังงานในการใช้งานแต่ละวันเท่าไหร่ เพราะแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น กรรมกร 2,500 แคลอรี หรือพนักงานนั่งทำงานในออฟฟิศต้องการ 1,500-1,800 แคลอรีก็เพียงพอ หรือบางคนไม่ได้ขับรถเองแต่ขึ้นรถประจำทางหรือรถไฟฟ้า ฉะนั้นพลังงานแต่ละคนสำคัญต้องดูจากไลฟ์สไตล์
   
โดยวิธีคิดง่าย ๆ ถ้าเราต้องการพลังงาน 100 เปอร์เซ็นต์ต้องได้ไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดและกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ในน้ำมันพืชและน้ำมันปลา ไม่ควรเกิน 11 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงไขมันตัวที่ไม่ดีอีกตัวหนึ่งคือ Trans Fat เป็นกรดไขมันที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเนื่องจากกระบวนการผลิต เช่น ใช้ความร้อนโดยการนำน้ำมันพืชไปเติมไฮโดรเจน เพื่อให้เกิดความแข็งตัว ทำเป็นมาการีน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดเป็นโรคเกิดโรคหัวใจ สุดท้ายวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดีและง่ายที่สุดคือ การออกกำลังกาย
   
ด้าน อัศนี มาลัมพุช กรรมการผู้จัดการ บริษัท มรกต อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) แนะนำว่า เมื่อเราอยากรับประทานไขมันให้สมดุลได้ประโยชน์ก็ต้องมานั่งคำนวณว่า ตอนเช้ากินน้ำมันปาล์มเท่าใด ตอนเย็นต้องกินน้ำมันถั่วเหลืองเท่าใดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากชนิดของน้ำมันที่สมดุลกันก็อาจจะไม่สะดวก เราจึงอยากให้คนไทยได้รับประทานไขมันดี ๆ ราคาไม่แพงมาก จึงคิดค้นนำสิ่งที่มีในประเทศนำมาผสมกันให้ได้ไขมันที่สมดุลโดยอิงจากที่ท่าน ผศ.ดร.อริสร์
   
สมาคมโรคหัวใจและองค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ แต่เมื่อเราได้สารอาหารที่เหมาะสมแล้วก็ควรรับประทานในปริมาณที่ร่างกายต้องการก็จะเกิดผลดี ไม่ใช่มีกรดไขมันดีแล้วทานมากไปก็จะกลายเป็นผลเสียและอย่าลืมว่ายังมีไขมันตัวอื่นอีกที่เราจะได้รับ ฉะนั้นควรรับประทานแต่พอเหมาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของเราเอง.

......................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น